วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553
พระโสณโกฬิวิสเถระ (ผู้ปรารถนาความเพียร)
พระโสณโกฬิวิสเถระ (ผู้ปรารถนาความเพียร)
"ผู้ที่ทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทุกข์โทษทั้งหลาย
ย่อมประดังมาหาเขา ผู้มัวเมา ประมาท และเย่อหยิ่ง จองหอง"
"ผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรทำ พากเพียรพยายามทำแต่สิ่ง
ที่ควรทำ มีสติสัมปชัญญะ ทุกข์โทษทั้งหลาย ย่อมสูญหายไป
จากเขา"
นามเดิม..'โสณะ' เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ส่วนโกฬิวิสะ
เป็นชื่อแห่งโคตร บิดานามว่า 'อุสภเศรษฐี' มีถิ่นฐานอยู่ในนคร
จำปา ท่านเป็นคนสุขุมาลชาติมีโลมา(ขน)ที่ละเอียดอ่อนก่อน
เกิดที่ฝ่าเท้าสองข้าง
เหตุที่ท่านมีโลมาที่ละเอียดอ่อนเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง พระเจ้า
พิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ มีความประสงค์จะทอดพระเนตร
โลมาที่ฝ่าเท้าของนายโสณะนั้น จึงรับสั่งให้เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ซึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์
ท่านพร้อมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามรับสั่ง
ได้ฟังพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ 4 ชาวบ้านเกิด
ศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
ส่วนท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา กราบทูลขอบรรพชา
อุปสมบท
ครั้นบวชแล้วท่านได้ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าสีตวันใกล้เมืองราชคฤห์
นั่นเอง เดินจงกรมด้วยเท้า ด้วยเข่า และมือ จนเท้า เข่า และมือแตก
แต่ก็ไม่บรรลุผลอะไร เพราะความเพียรที่มากเกินไป ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน
คิดน้อยใจตัวเองว่ามีความเพียรมากถึงเพียงนี้ ยังไม่บรรลุมรรคผล
พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านจึงเสด็จไปแสดงธรรมโปรด
โดยเปรียบเทียบกับพิณ ๓ สาย ว่าสายพิณที่ขึงตึงเกินไปและหย่อน
เกินไป จะมีเสียงไม่ไพเราะ เมื่อได้รับคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่าน
ปรับความเพียรและสมาธิให้เสมอกันบำเพ็ญเพียรแต่พอดี ไม่ตึงนัก
ไม่หย่อนนัก ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหันตผล
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับผู้ที่นิยมปฏิบัติ
อัตตกิลมถานุโยค ว่าวิธีนั้นไม่สามารถจะทำให้บุคคลบรรลุผลที่
ต้องการได้เลย ครั้นสำเร็จเป็นอรหันต์แล้ว แสดงคุณสมบัติของ
พระอรหันต์ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์นั้น
จิตใจน้อมเข้าในคุณ 6 ประการคือ...
1. น้อมเข้าไปในบรรพชา
2. น้อมเข้าไปในความสงัด
3. น้อมเข้าไปในความสำรวมไม่เบียดเบียน
4. น้อมเข้าไปในความไม่ถือมั่น
5. น้อมเข้าไปในความไม่มีความอยาก
6. น้อมเข้าไปในความไม่หลง
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ ครั้นยังไม่บรรลุพระอรหันต์ได้บำเพ็ญความเพียร
อย่างแรงกล้า ดังได้กล่าวมา พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารถนาความเพียร
ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา จนถึงเวลาอายุขัย
จึงได้ปรินิพพานจากโลกนี้ไป เปรียบเหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้วมอด
ดับไป...ฯ
~บทความโดย..สุนันทาบุตร จากหนังสือพิมพ์สังฆทานนิวส์~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์...ฯ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น